เช็กสัญญาณโรคนอนเกิน
สุขภาพ

เช็กสัญญาณ “โรคนอนเกิน” พร้อมข้อเสียของการนอนมากเกินไป

แม้การนอนหลับจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่แม้จะนอนมากถึง 8-9 ชั่วโมง แต่ยังมีอาการง่วงและอ่อนเพลียระหว่างวัน บางรายอาการหนักจนอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงาน และสำหรับใครที่กำลังเผชิญปัญหานี้ นอนมากเท่าไหร่ก็ไม่พอเสียที ลองมาเช็กสัญญาณ “โรคนอนเกิน” หรือ Hypersomnia ที่แม้อาจจะฟังชื่อแล้วไม่ใช่โรคร้ายแต่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้

อาการ “โรคนอนเกิน” เป็นอย่างไร

เพราะโรคนอนเกินเป็นโรคชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นจึงมีวิธีสังเกตอาการของโรค โดยอาการเล็กน้อยที่สังเกตได้ คือ ตื่นนอนยาก แม้อาบน้ำแล้วก็ยังงัวเงีย ระหว่างวันนอกจากง่วงตลอดเวลาแล้วยังอ่อนเพลีย โดยอาการง่วงสามารถเกิดได้ทุกเมื่อ แม้นั่งอยู่ท่ามกลางวงสนทนาหรือสถานที่ที่มีเสียงดังก็รู้สึกง่วง บางรายมีอาการหนักทำให้หลับระหว่างขับรถจนเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ และบางรายที่มีอาการเหล่านี้ติดต่อเป็นเวลานานจะมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย

ข้อเสียของ “โรคนอนเกิน”

แน่นอนว่าการนอนหลับพักผ่อนเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ร่างกายและจิตใจสดชื่น มีพลังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ถึงอย่างนั้นต้องเป็นการพักผ่อนอย่างพอดีและเหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งโดยปกติควรพักผ่อนให้ได้ 6-9 ชั่วโมง แต่สำหรับบางคนอาจต้องการพักผ่อนมากกว่านั้น จนทำให้เสี่ยงต่อการเป็น “โรคนอนเกิน” โดยข้อเสียของโรคนี้ คือ ทำให้รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลียตลอดเวลา จนทำกิจกรรมได้อย่างเชื่องช้า ไม่กระฉับกระเฉง ในอนาคตอาจมีโอกาสเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเพราะร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว นอกจากนี้อาการง่วงตลอดเวลาอาจส่งผลเสียต่อชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ต้องขับรถนาน ๆ หรือผู้ที่ทำงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้ง่ายเพราะระบบเผาผลาญช้าลง ไขมันจึงสะสมตามร่างกายง่ายขึ้น

เมื่อ “โรคนอนเกิน” เต็มไปด้วยข้อเสียแบบนี้ ใครมีสัญญาณของโรคนี้ ควรปรับพฤติกรรมให้หลับสนิทมากขึ้น เช่น ควรเข้านอนใกล้เคียงเวลาเดิมทุกวัน จัดห้องนอนให้อากาศถ่ายเทเพื่อการนอนหลับสบายไม่อึดอัด หรือบางคนอาจใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์ที่มีสรรพคุณช่วยให้หลับสบายและหลับสนิทมากขึ้นก็ได้เช่นกัน

สำหรับใครที่ง่วงระหว่างวันบ่อย ๆ แม้จะเป็นวันที่พักผ่อนเพียงพอ แนะนำให้ลองติดตามอาการง่วงของตนเองเป็นระยะ เพราะบางครั้งอาจไม่ใช่อาการง่วงจากการพักผ่อนน้อย แต่เป็นสัญญาณ “โรคนอนเกิน” โรคที่เมื่อได้ยินชื่อแล้วอาจไม่รู้สึกว่าเป็นโรคร้ายแรง แต่ถึงอย่างนั้นกลับเป็นภัยเงียบที่หลายคนมองข้าม เพราะนอกจากส่งผลต่อการเข้าสังคมแล้ว อาการง่วงระหว่างวันหรือระหว่างขับรถยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ด้วย